เมนู

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุกระทำให้แจ้งเข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเอง
อยู่ในปัจจุบันนี้ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุ เป็นตำบล
ที่ 3 นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ 3 ตำบลเป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุ.
จบสรณียสูตรที่ 2

อรรถกถาสรณียสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในสารณียสูตรที่ 2 ดังต่อไปนี้ :-

สิ่งประทับใจ 3 ประการ



บทว่า ขตฺติยสฺส ได้แก่ เป็นกษัตริย์โดยกำเนิด. บทว่า มุทฺธา
ภิสิตฺตสฺส
ได้แก่ ผู้ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ด้วยการอภิเษกเป็นพระราชา.
บทว่า สรณียานิ โหนฺติ ความว่า ไม่ถูกลืม. บทว่า ชาโต แปลว่า
บังเกิดแล้ว. บทว่า ยาวชีวํ สรณียํ ความว่า ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์อยู่
พระมหากษัตริย์ไม่สามารถจะทรงทราบอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ได้เลย
(ก็จริง) แต่ว่าในเวลาต่อมา ทรงสดับเรื่องราวที่เหล่าพระประยูรญาติ มี
พระชนกชนนีเป็นต้น หรือผู้ที่อยู่ด้วยกันทูลว่า พระองค์ทรงพระราชสมภพ
ในชนบทโน้น ในนครโน้น ในวันโน้น ในนักษัตรโน้น ตั้งแต่วันนั้นมา
(เรื่องราวที่พระประยูรญาติตรัสเล่าให้ฟัง) เป็นเรื่องราวที่พระองค์จะต้อง
ระลึกไว้ คือไม่ทรงลืมตลอดพระชนม์ชีพทีเดียว.

ความจริง พระเจ้าปากิตนันทะ ไม่มีกิจที่จะต้องกระทำด้วย
ชาติ และฐานะเป็นต้นเลย. แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนำเหตุการณ์นี้มา
ก็เพื่อทรงแสดงบุคคล 3 จำพวก ซึ่งเปรียบด้วยพระราชานั้น เพราะฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงบุคคลเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า เอวเมว
โข ภิกขเว
เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า อนคาริยํ ปพฺพชิโต โหติ นี้
พึงทราบว่า จตุปาริสุทธิศีล อาศัยบรรพชานั่นแล. บทว่า สรณียํ โหติ
ความว่า (สถานที่ที่ภิกษุปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ออก
จากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือนนี้) เป็นสถานที่ที่ภิกษุจะต้องระลึกไว้ คือไม่ลืม
ตลอดชีวิตเลยทีเดียว อย่างนี้ว่า เราบวชแล้วที่โคนต้นไม้โน้น ในที่จงกรม
โน้น ในโรงอุปสมบทโน้น ในวิหารโน้น ในชนบทโน้น ในรัฐโน้น.
บทว่า อิทํ ทุกขํ ความว่า ทุกข์มีเพียงเท่านี้ ไม่มีทุกข์นอกเหนือ
ไปจากนี้. บทว่า อยํ ทุกฺขสมุทโย ความว่า เหตุเกิดทุกข์มีเพียงเท่านี้
ไม่มีเหตุเกิดทุกข์นอกเหนือไปจากนี้. แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้แล.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสโสดาปัตติมรรคไว้ด้วยสัจจะ 4 ในสูตรนี้
ดังพรรณนามาฉะนี้. ส่วนกสิณบริกรรม และวิปัสสนาญาณ อาศัยมรรคทั้งนั้น.
บทว่า สรณียํ โหติ ความว่า (สถานที่ที่ภิกษุได้สำเร็จเป็นพระ-
โสดาบัน) เป็นสถานที่ที่ภิกษุจะต้องระลึกไว้ คือ ไม่ลืมตลอดชีวิตว่า เรา
สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ที่ควงต้นไม้โน้น ฯลฯ ในรัฐโน้น. บทว่า อาสวานํ
ขยา
แปลว่า เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. บทว่า อนาสวํ เจโต
วิมุตฺตึ
ได้แก่ ผลสมาธิ. บทว่า ปญฺญาวิมุตฺตึ ได้แก่ผลปัญญา. บทว่า
สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ความว่า การทำให้ประจักษ์ด้วยปัญญาอัน

วิเศษยิ่ง ด้วยตนเองทีเดียว. บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหรติ ได้แก่ ได้อยู่.
บทว่า สรณียํ ความว่า ธรรมดาว่า สถานที่ที่ตนเองได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
เป็นสถานที่ที่ภิกษุจะต้องระลึกไว้ คือ ไม่ลืมตลอดชีวิตว่า เราได้สำเร็จเป็น
พระอรหันต์ ที่ควงต้นไม้โน้น ฯลฯ ในรัฐโน้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจบพระธรรมเทศนาตามอนุสนธิ ดังว่า
มานี้แล.
จบอรรถกถาสรณียสูตรที่ 2

3. ภิกขุสูตร



ว่าด้วยบุคลล 3 จำพวกในทางโลกและทางธรรม



[452] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล 3 จำพวกนี้มีอยู่ในโลก บุคคล
3 จำพวกไหน คือ บุคคลผู้ไร้ความหวัง บุคคลผู้มีส่วนแห่งความหวัง บุคคล
ผู้สิ้นความหวังแล้ว
ก็บุคคลอย่างไร ชื่อว่าผู้ไร้ความหวัง ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล
บางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือตระกูลจัณฑาลก็ดี ตระกูลคนดีดพิณก็ดี
ตระกูลพรานก็ดี ตระกูลช่างทำรถก็ดี ตระกูลคนรับจ้างเทขยะก็ดี ทั้งยากจน
ขัดสนข้าวน้ำโภชนะ เป็นอยู่อย่างแร้นแค้น หาอาหารและเครื่องนุ่งห่มได้
โดยฝืดเคือง ซ้ำเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เตี้ยแคระ มากไปด้วยโรค คือ ตาบอดบ้าง
เป็นง่อยบ้าง กระจอกบ้าง เปลี้ยบ้าง ไม่ใคร่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยวดยาน ระเบียบ